วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ดจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ ครั้งที่ 2/2564 โดยมีนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานโดยที่ประชุมได้มีการหารือในวาระสำคัญ ดังนี้ 1. รับทราบสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ปีงบประมาณพ.ศ.2564 มีการตรวจเชิงรุกหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่อปท.จำนวน 202 แห่ง 202 ตัวอย่างและตรวจเชิงรับ 1 ตัวอย่าง พบตัวอย่างที่มีผลบวก 1 ตัวอย่างในกระบือ และได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พร้อมดำเนินการควบคุมโรค และ อปท.ได้จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 130 แห่ง วัคซีน 141,317 โด๊ส อปท.อีก 76 แห่งอยู่ระหว่างการจัดซื้อ 140,863 โด๊ส พร้อมนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลากำหนดเขตท้องที่ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์ควบคุมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมออกไปอีก 2 เดือน 2. รับทราบสถานการณ์โลกพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ในสุกร ซึ่งพบมีการติดเชื้อในพื้นที่ 14 อำเภอ สุกรติดเชื้อ 2,997 ตัว เกษตรกร 146 ราย ทั้งนี้เกษตรกรจะได้รับค่าชดใช้ในการทำลายสัตว์ในราคาร้อยละ 75 ของราคาสุกรที่ประเมินในท้องตลาด รวมมูลค่าการขอชดเชยกว่า 11,864,558 บาท 3. รับทราบสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ปัจจุบันพบสัตว์ป่วยในพื้นที่ 59 จังหวัด จำนวน 430,181 ตัว หายป่วยแล้ว 201,886 ตัว สัตว์ตาย 24,922 ตัว สัตว์ป่วยคงเหลือ 203,373 ตัว สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ดพบมีการติดเชื้อทั้ง 20 อำเภอ สัตว์ป่วยสะสมจำนวน 54,098 ตัว หายป่วยแล้ว 45,055 ตัว สัตว์ตาย 3,494 ตัว คิดเป็น 6% สัตว์ป่วยคงเหลือ 5,549 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบ 22,609 ราย ทั้งนี้ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ให้การช่วยเหลือ ในการรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย พ่นยากำจัดแมลง พ่นยาฆ่าเชื้อ แจกยากำจัดแมลง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและป้องกันสัตว์เลี้ยงของตนเอง สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 2,160 โด๊ส ซึ่งได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,128 ตัว และคาดว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนมาเพิ่มเติมในช่วงปลายเดือนนี้และจะสามารถฉีดให้แก่สัตว์ของเกษตรกรได้ภายในเดือนสิงหาคม 4. ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคลำปี สกินโดยกรณีเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้อำเภอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบรับรองพร้อมแนบหลักฐานประกอบเสนอมายังจังหวัดเพื่อพิจารณายกเว้นหลักเกณฑ์ตามระเบียบฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือ สำหรับกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนขอให้ทำหนังสือเพื่อขอความสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่อไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้เน้นย้ำในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. กรณีโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์นั้นให้มีการนัดประชุมหารือแผนปฏิบัติการโดยเร็ว พร้อมกำชับให้เร่งควบคุมลดจำนวนประชากรสุนัขจรจัดให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงจัดหาสถานที่เพื่อรองรับสุนัขจรจัดด้วย 2. อาชีพปศุสัตว์เป็นอาชีพที่สร้างผลตอบแทนสูง ใช้พื้นที่ไม่มาก แต่การเลี้ยงยังไม่มีระบบ ดังนั้นควรมีการจัดทำฐานข้อมูลหรือใช้แอพพลิเคชั่นเข้ามาสนับสนุน พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งทีมหรือชุดตรวจสอบการจำหน่ายสัตว์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่รู้แหล่งที่มา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคระบาดสุกร หากพบเบาะแสขอให้ประสานกับฝ่ายตำรวจเพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป 3. สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนการเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5% ขอให้จัดทำระบบและแจ้งให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนโดยเร็วเพื่อให้สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐต่อไป 4. มอบหมายสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดให้บูรณาการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำโครงการกำจัดพาหะนำโรคลัมปี สกินและยุงลายไปพร้อมกัน ทำโครงการเดียวแก้ปัญหาได้สองเรื่อง 5. ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ชนิดลัมปี สกิน พร้อมจัดทำระบบฐานข้อมูลระบบการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ และมุ่งส่งเสริมให้มีการทำปศุสัตว์ระบบปิด แม่นยำ สมัยใหม่ เลี้ยงในคอก มีระบบการควบคุมต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ